fbpx Skip to content

เคราะห์กรรม ของคนไอที กับสิ่งที่ผู้บริหารไม่เคยรู้

ไอที OG

เคราะห์กรรม ของคนในแผนกไอที ที่ผู้บริหารไม่เคยรู้
.
ถ้าคุณเป็นผู้บริหารองค์กร และออฟฟิศของคุณมี IT อยู่ 1-2 คนที่ทำทุกอย่างเกี่ยวกับงาน IT หัวข้อเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน
.
.

ไอทีมีหลายแขนง ความรู้และฝึกฝนก็ต่างกัน ทำงานแทนกันไม่ได้

หมอมีเฉพาะทาง พยาบาลก็มีเฉพาะทาง งานช่างก็มีเฉพาะทาง เชฟก็แบ่งแยกความชำนาญตามอาหารเชื้อชาติแตกต่างกันไป  งานไอทีไม่ได้แตกต่างจากวิชาชีพอื่น ๆ ก็มีหลากหลายแขนง


การเหมารวมคนทำไอทีว่า เขาต้องทำงานไอทีได้หมดทุกด้าน ก็คือการไปเหมาเอาว่า หมอก็หมอเหมือน ๆ กัน ช่างทุกคนต้องซ่อม-สร้างทุกอย่างในตึกได้ เชฟทุกคนทำอาหารทุกชาติได้ ทำขนมได้ทุกแบบ เพราะมันก็คืออาหารเหมือน ๆ กัน….เป็นความคิดที่ไม่ถูก เราจึงไปเหมารวมไม่ได้ว่า คนไอทีก็ทำไอทีทั้งหมด 
.
คนทำไอทีในสาขา Infrastructure อาจทำ System เช่น Build และ Manage server farm และ Manage office client ได้บ้าง แต่ไม่ถนัด ผมเห็นหลายองค์กรส่งเจ้าหน้าที่ไอทีของตัวเอง ไปเข้าคอร์สอบรม Cybersecurity แล้วองค์กรก็หวังพึ่งไอทีคนนั้นให้กลับมาวางแผนให้องค์กรปลอดภัยจากการโจมตี ความคาดหวังแบบนี้ ไม่แตกต่างจากการส่งช่างไฟไปเรียนงานประปา ส่งเชฟญี่ปุ่นไปหัดตำปลาร้า ส่งจักษุแพทย์ไปเข้าคอร์สเรียนทันตกรรม องค์กรจะหวังพึ่งอะไรหรือผลงานคุณภาพไหน จากการอบรมแค่ไม่กี่ชั่วโมงเหรอครับ
.
ก็ไม่ใช่ว่า อาชีพนั้น ๆ จะทำงานในแขนงอื่นไม่ได้เลย ทำอ่ะ…ทำได้ แต่มันไม่ถนัดครับ ผลงานออกมาไม่ดี ถ้าอยากให้ได้ผลงานดี ก็ต้องใช้เวลาฝึกฝน มีต้นทุนในการพัฒนาตัวเองในสาขานั้น ๆ และต้องฝึกกันเป็นปี ๆ กว่าจะแตะก้าวแรกของระดับมืออาชีพที่รับประกันความสำเร็จได้ ในขณะที่งานประจำก็ยังต้องทำอยู่ทุกวันด้วย คำถามสำคัญคือ….นี่คือวิธีที่องค์กรจะได้ประโยชน์จากคนจริง ๆ หรือ
.
มีความถนัด และไม่ถนัด เพราะไม่ใช่วิชาเอกของตัวเอง ไม่ได้ทำทุกวัน มันมีทุกอาชีพ ไอทีก็คือหนึ่งในนั้น
.
ถ้าเข้าใจถูกต้อง องค์กรต้องจ้างคนสายตรงด้านนั้น ๆ มาทำงานให้องค์กร เช่น มาทำ Proposal เสนอเป็นโครงการก็ได้, จะทำกันแบบ Outsource หรือ Turnkey ก็ได้ แล้วให้มืออาชีพด้านนั้น ๆ ประสานงานกับคนไอทีของเราที่เขาถนัดอีกอย่าง เป็นเหมือนวิศวกรหลายสาขาที่ทำงานร่วมกัน แบบนี้คือทางออกที่ถูกต้อง ที่องค์กรจะได้ประโยชน์จากเงินที่จ่าย เพื่อให้ได้ผลงานระดับมืออาชีพ
.
จ่ายให้กับคนที่ถนัดถูกงาน แล้วเราจะได้งานที่ถูกต้อง 
encyption

ค่าตัวแพง ไม่ได้แปลว่า ทำได้หลายอย่าง

ผู้บริหาร-นายจ้าง และแม้แต่คนไอทีด้วยกันเอง มักจะคิดว่า “ก็น่าจะทำได้หลายอย่างไม่ใช่เหรอ จ้างไอทีตั้งแพงขนาดนั้น” หรือประโยคที่ว่า “ถ้าจะต้อง Outsource แล้วจะจ้างไอทีเอาไว้ทำห่านอะไร”


นักดนตรีที่ค่าตัวแพง แปลว่า เขาเล่นเครื่องดนตรีได้หลายประเภทเหรอครับ แถมยังต้องร้องเพลงเพราะอีกด้วย 
………ถามกลับกัน นักดนตรีค่าตัวแพง แต่เล่นเครื่องดนตรีได้ชิ้นเดียว แปลว่า ไม่คุ้มค่าจ้าง…เหรอ ?
.
หมอที่ค่าตัวแพง แปลว่า เขาทำศัลยกรรมสมอง-หัวใจ-ฟัน-กระดูก-ประสาท ใช่เหรอครับ
……..ถามกลับกัน โรงพยาบาลไหนจะคิดจ้างศัลยแพทย์คนเดียว และทำศัลยกรรมหลาย ๆ ส่วนมีมั้ย จะได้ไม่ต้องจ้างศัลยแพทย์หลายคน….ไม่น่ามีมั้ง ?

.

เชฟค่าตัวแพง แปลว่า เขาสามารถหันซ้ายนวดแป้งพาสต้า หันขวานวดแป้งโซบะได้ ตรงหน้ากำลังปั่นแป้งพิซซ่า จริงเหรอครับ
……..ถามกลับกัน เชฟระดับดาวมิชลิน แต่เป็นเชพภัตตาคารญี่ปุ่นเชื้อชาติเดียว แปลเมียเราชนะขาดลอย เพราะทำอาหารได้หลากหลายเชื้อชาติมากกว่า…..เหรอ ?
.
คนไอทีค่าตัวแพง ไม่ได้แปลว่า เขาต้องดูแลเซิร์ฟเวอร์ได้ ทำ Wifi เป็น และต้องเก่ง Router/Firewall ส่วนอันอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยทำ ก็แค่เข้าคอร์สเรียน 3 ชั่วโมงก็กลับมาเก่งแระ และถ้าจ้างคนที่แพงกว่านี้ น่าจะต้องทำ web ของบริษัทและวางระบบ Cybersecurity ได้ด้วย มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหรอครับ
.
ค่าตัวแพง แปลว่า เขาร่ำเรียนฝึกฝนจนเก่งและเชี่ยวชาญ “ในแขนงนั้น ๆ” ค่าตัวจึงแพง ไม่แตกต่างจากวิชาชีพอื่น ๆ
.
ถ้าทุกวันนี้ องค์กรของเราพยายามหาไอทีที่ทำได้หลาย ๆ อย่าง โดยเอาค่าตัวเป็นเครื่องวัด ต้องเปลี่ยนความคิดนะครับ
IT security

System = One man show….แปลก ๆ นะครับ….ว่ามั้ย

แผนกไอทีมีเจ้าหน้าที่คนเดียว มีถมไปครับ และระบบที่ดูแลก็ทำงานได้ดีด้วย แต่…แผนกไอทีที่ทำงานคนเดียว “ดูแลทั้ง System และทุก System” อันเนี้ย…แปลก ๆ
.
ก็คือ…ทำ System คนเดียวก็ทำได้ครับ นึกภาพเหมือนวงออเคสตร้าที่มีนักดนตรีคนเดียวอ่ะครับ วิ่งหัวหมุน วิ่งไปวิ่งมา ดีดนู่น ตีนี่ เป่านั่น เคาะนี่ ฟังก็ได้เป็นเพลงอยู่ แต่ผุ ๆ พัง ๆ ไปตามประสา ตีโน้ตไม่ทันเวลาก็ออกจะบ่อย บางทีก็ตีเพี้ยน ๆ ฟังไม่เหมือนว่าจะเป็นเพลง แผนกไอทีที่ออฟฟิศ บรรเลงแบบนี้กันใช่หรือเปล่าครับ ทำไม Wifi มีปัญหาบ่อยจัง ทำไมเซิร์ฟเวอร์ล่มบ่อยจัง ทำไมข้อมูลหายถึงกู้ไม่ได้ ทำไมออฟฟิศอื่นไม่เห็นมีปัญหาเยอะเหมือนออฟฟิศเรา  ทำไม ทำไม ทำไม…
.
แผนกไอทีที่มีแค่คนเดียว ก็มีความถนัดที่จะดูแลได้เพียงส่วนหนึ่งของ System ของทั้งออฟฟิศ ซึ่งเขาพึงจะทำงานร่วมกับ Outsource และผู้เชี่ยวชาญแขนงอื่น ๆ รวมกันเป็นทีมที่ช่วยกันดูแลระบบของออฟฟิศ แบบนี้คือโครงสร้างการดูแลระบบที่ถูกต้อง คนเก่ง Infrastructure ก็มารับ Outsource ด้าน Infrastructure ออกไป Cybersecurity ก็หาคนเก่งด้านนั้นมารับงาน แยกชิ้นส่วนกันไป ทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยมีแผนกไอทีขององค์กรเป็นศูนย์รวมในการจัดการและประสานงาน ประสานกับผู้ใช้ ประสานกับผู้บริหาร
.
คนไข้หนึ่งคน ยังต้องมีพยาบาล มีแพทย์เจ้าของไข้ มีนักรังษีเทคนิค มีฝ่ายเทคนิคการแพทย์ เคสใหญ่ ๆ ยังถึงกับต้องตั้งคณะแพทย์มาทำงานร่วมกันจากหลายสาขา เพราะร่างกายก็ประกอบด้วยหลาย System เหมือนกัน จึงต้องใช้คนจากหลายแขนงมาดูแลแต่ละ System และทำงานร่วมกัน
.
ถ้าอยากให้ระบบ IT มีความเสถียรยั่งยืน ก็อย่าปล่อยให้ไอทีทำงานทั้ง System โดยลำพังครับ 

ส่งไอทีไปอบรม หรือแค่โหลดคู่มือมาอ่าน ก็ทำได้แล้ว..

องค์กรซื้อ Firewall ใหม่ ก็ส่งไอทีไปอบรมกับคนขายซักวันนึง กลับมาจะได้จัดการ Firewall นั้นได้ 


อ้าว…ก็อบรม Wifi กับคนขายมาแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไม Wifi ที่ออฟฟิศยังติด ๆ หลุด ๆ อยู่อ่ะ ไอทีแก้ไม่ได้เหรอ
.
โหล…สวัสดีครับ…ผมไอทีนะครับ…ระบบ Video conference ที่คุณคนขาย เพิ่งมาติดตั้งให้เมื่อวานอ่ะครับ ช่วยส่งคู่มือมาด้วยนะครับ ผมจะได้ศึกษาและทำเป็นในเวลาอันรวดเร็ว อ้อ…แล้วขอสไลด์อบรมเมื่อวานด้วยนะครับ มีปัญหาผมจะได้แก้ได้เลย
.
ความเชื่อ + ความคาดหวังแบบนี้ มีให้เห็นอยู่ตลอดครับ และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ
.
ตกใจมั้ยครับ ส่งไอทีไปอบรมกับคนขายทุกครั้งที่ซื้ออุปกรณ์ใหม่ เพิ่งมารู้ความจริงวันนี้ว่า มันคือการ “อบลืม” คืนเดียวก็ลืมหมดแล้วครับ ถามแผนกไอทีในองค์กรของคุณดูดิ จริงหรือเปล่า
.
ไม่แตกต่างไปจากงานอื่น ๆ ครับ งานใหม่ที่เราไม่เคยทำ อุปกรณ์ที่เราไม่เคยเจอ ให้อบรมยังไง วันเดียวก็ลืมครับ โหลดคู่มือมา แปะไว้บน Desktop ตั้งหลายวันแล้ว ก็ไม่มีเวลาอ่าน หนาเป็นร้อย ๆ หน้า ใครจะไปอ่านหมด อ่านแล้วไม่ได้ฝึก ก็สู้คนที่เขาทำทุกวันไม่ได้ 
.
ไอ้ที่ทุกวันนี้ คนไอทีทำนู่นนี่กันได้ หลายอย่างเราใช้ Prakong mode ครับ คือทำยังไงก็ได้ อย่าให้มันล่ม คนขายเขาเซ็ตมาแล้ว มันทำงานได้ ไอทีจะพยายามไม่ไปแตะตรงนั้นครับ เดี๋ยวมันจะพัง !!!

ว่าง่าย ๆ ซื้ออุปกรณ์อะไรมา จะแพงแค่ไหน ก็ได้ใช้เท่าที่คนขายเขาเซ็ตเอาไว้ให้เท่านั้นแหละ

เคราะห์กรรม ของคนไอที

เคราะห์กรรม ของคนไอทีคือ การถูกยัดเยียดหน้าที่ ก็อบลืมกันมาแล้ว ได้ใบ “Certificate of Participant” มาใส่กรอบแปะข้างฝากันด้วย งั้นหน้าที่ของอุปกรณ์นี้หรือระบบนั้น ก็มอบให้รับผิดชอบไปเลยละกัน อบลืมกันมาตั้ง 1 วันเต็มแล้วนี่นา


คำพระเขาว่า Great certificate comes with Great responsibility ไปอบรมอะไรมา ก็เอาสิ่งนั้นไปทำ…สาธุ
.
โปรดเถิดครับ องค์กรที่ยังคงขยันส่งไอทีไปอบรมเรื่องใหม่ ๆ แล้วหวังว่ากลับมาเขาจะทำภาระกิจนั้น ๆ ให้องค์กรได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ตื่นจากฝันเถิดครับ ให้ตั้งเป้าว่า การอบรมนั้นเพื่อแค่ทำให้รู้จักเท่านั้น แต่การจะทำงานได้ จะต้องอาศัยการอ่านและฝึกฝนอีกมาก องค์กรรอไม่ได้หรอกครับ วิธีที่ถูกก็คือ ให้ไอทีทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแขนงนั้น ๆ หันหน้าหา Outsource ใช้คนให้ถูกงาน แล้วเราจะได้ผลผลิตอันเป็นที่น่าพอใจครับ

อ๊ะ อ๊ะ…ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายแล้ว 

ยังคิดว่าจ้างไอทีมาแล้ว ทำไมยังต้องจ้าง Outsource อีก 

ก็ถือว่าผมคุยไม่รู้เรื่องละกัน….ฮิ้ว


เขียนและบันทึกเรื่องราวโดยพี่วุฒิ

ปรึกษาปัญหา IT Outsource

ทีมงานจะติดต่อกลับไป