ผู้ผลิตเกมออนไลน์เดี๋ยวนี้ เขาไม่ได้หาเงินจากการที่ลูกค้าจะต้องเสียเงินซื้อเกมของเขามาเล่นนะครับ กลับกัน เขาอยากจะเปิดให้เล่นฟรี ยิ่งคนเล่นเยอะ เขายิ่งมี “โอกาสทำเงิน” ได้มากขึ้น เกมออนไลน์ทำเงินยังไง ผู้ใหญ่บางคนอาจจะบอกว่า “ง่ายจะตาย ก็ล่อเด็กให้เติมเงินซื้อไอเท็มไง”
เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนกัน
เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ระหว่างนี้ ผมอยากให้สังเกตลูกหลานให้ดีนะครับ ถ้าเขามีนิสัยเป็นคนเสียดายเงิน เก็บออม หรือจะออกไปในทางขี้เหนียว แต่สามารถหมดเงินกับเกมได้อย่างตรงกันข้าม เด็กคนนั้นมีโอกาสติดการพนันที่แฝงอยู่ในเกมครับ
เกมออนไลน์บางเกม มีวิธีหาเงินแบบตื้น ๆ คือมีเกมที่เปิดให้เล่นฟรีได้ (F2P – Free to Play player) แล้วเขาจะกันอีกส่วน ที่ใครอยากจะเข้าไปเล่น ก็ต้องจ่าย (P2P – Pay to Play player) เกมแบบนี้ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ แต่มักเป็นเกมที่ต้นทุนการพัฒนาสูง ทำเงินได้ไม่มาก เมื่อเทียบกับวิธีการทำเงินที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
แพ้ แพ้ แพ้….จ่ายดีกว่า จะได้ไม่แพ้อีก
วิธีหาเงินของเกมออนไลน์ที่เก่งขึ้นมาอีกหน่อย เขาจะตั้งเป้าหมายให้ผู้เล่นไขว่คว้าครับ อาจจะต่อสู้เพื่อเอาขนะ Bot ในเกม หรือเอาชนะผู้เล่นอื่น ลุยกันเดี่ยว ๆ หรือลุยกันระหว่างทีม มีหมดทุกแบบ และแน่นอนว่า ทุกเกมมี Player level ที่มาพร้อมกับการอัพเกรด ว่าง่าย ๆ Level สูงก็ชนะ Level ต่ำกว่าก็แพ้ไป ถ้าอยากจะเข้าไปถึงด่านลึก ๆ ในเกมก็จำเป็นจะต้องอัพเกรดให้ Level สูงขึ้นเรียกว่า ชีวิตในเกมจะเดินหน้า ก็ต้องอัพเกรด Level ถ้าไม่อัพเกรด ก็คือชีวิตที่อยู่กับความพ่ายแพ้
ความรู้สึกพ่ายแพ้สร้างแรงผลักดัน
ความรู้สึกพ่ายแพ้มันมีแรงผลักดันสูงครับ ไม่มีใครอยากแพ้ ทีนี้ถ้าแพ้บ่อย ๆ คนก็เลิกเล่นเกม ถูกมั้ยครับ เกมเขาก็เลยมีทางให้เราอัพเกรดได้ครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเล่นเพื่อแลกสะสมอะไรซักอย่าง (เหรียญ, เพชร, พลัง, ฯลฯ ผมเรียกว่า แต้ม ละกัน) แล้วเราก็เอาแต้มไปแลกกับออพชั่นที่จะใช้อัพเกรดตัวเรา (ต่อไปนี้ จะเรียกว่า ไอเท็ม)เราจะเล่นฟรี ๆ สะสมแต้มไปเรื่อย ๆ แล้วก็อัพเกรดไปอย่างช้า ๆ ก็ได้ครับ ไอเท็มสำหรับ Level ต่ำ ๆ มักจะได้มาง่าย ๆ ด้วยแต้มไม่มากนัก ล่อผู้เล่นให้เล่นต่อ เห็นโอกาสของการอัพเกรดสูง ๆ ขึ้นไป แต่ใน Level ที่สูงขึ้น แต้มที่ใช้แลกไอเท็มจะสูงขึ้นแบบ Exponential ผู้เล่นที่ไม่อยากแพ้ให้กับคนที่ Level เหนือกว่า แทนที่จะเล่นสะสมแต้มช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ สามารถเลือกที่จะจ่ายได้
ใครๆก็อยากได้สิทธิพิเศษ
แทนที่เกมออนไลน์จะให้ผู้เล่นจ่ายเพื่อแลกแต้มเอาทื่อ ๆ เขามีหลักคิดที่ซับซ้อนกว่านั้น Trading มีคุณค่าทางจิตใจน้อยกว่า Privilege ครับ ดังนั้น แทนที่จะจ่ายเพื่อซื้อแต้ม เขาก็ให้ผู้เล่น “จ่ายเพื่ออัพเกรดโอกาสในการทำแต้มได้เร็ว” เมื่อไหร่ที่ผู้เล่นเข้าสู่โลกของเกม ผู้เล่นจะรู้สึกถึงสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าผู้เล่นที่เล่นฟรี
เล่นแล้วมันถูกใจ ใครล่ะจะไม่เล่นต่อ จริงมั้ยครับแถมด้วยความพึงพอใจเมื่อได้อัพเกรด และได้ชนะ มันเติมเต็มความรู้สึกของผู้เล่นได้เป็นอย่างดี เป็นการกลายร่างจาก F2P (Free-to-Play player) มาเป็น P2W (Pay-to-Win player) ไปได้อย่างเนียน ๆ
ความคิดที่ถูกแบ่งชนชั้น
อ่านไปก็ลองถามลูกหลานไปนะครับ ในเกมที่เขาเล่น เป็นอย่างที่ผมเขียนหรือเปล่า และเกมออนไลน์สร้างอารมณ์แบบไหนใส่หัวลูกหลานของเราอยู่ ความรู้สึกของการแบ่งแยกชนชั้น ลูกหลานเราอยู่ชนชั้นไหน ชั้นสูงที่ดูแคลนชนชั้นล่าง หรือเขาเป็นชั้นล่างที่รู้สึกถึงความด้อยคุณค่าเมื่อเทียบกับชั้นสูง ลูกหลานของเราพร้อมกับภาวะอารมณ์เหล่านี้แล้วหรือยัง จังหวะนี้ ถ้าเราไม่สอน ลูกหลานเราอาจเป็นคนชอบบูลลี่หรือเหยียดคนอื่น หรืออาจรู้สึกถูกซ้ำเติม ถูกเหยียดแม้แต่ในเกมหรือเปล่า เราต้องตามลูกหลานเราให้ทันนะครับ
ไม่อยากเป็นไก่ให้ทีมแบก
พวกเราต้องช่วยกันทำให้ทีมชนะ เกมออนไลน์ยังใช้ Social emotion เข้ามาเป็นตัวเร่งปฏิกริยาการซื้อได้อีก โดยจัดให้ผู้เล่นรวมทีมกัน และใช้ความสามารถของผู้เล่นแต่ละคนเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย พออยู่ในทีม ผู้เล่นก็จะเริ่มประเมินตัวเองว่า ฉันเป็นตัวถ่วงทีมหรือเปล่า ทีมแพ้เพราะฉันอ่อนแอหรือเปล่า บางคนอยากจะทำเพื่อทีม จาก F2P player ก็กลายร่างเป็น P2W เร่งอัพเกรดตัวเองให้ทันเพื่อนร่วมทีม และนำทีมสู่ชัยชนะในที่สุด ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ผลิตเกมได้เงินเยอะขึ้นจากการจับผู้เล่นมารวมเป็นทีม
ลูกหลานของเราจะเข้าใจมั้ยว่า สังคมมีคนหลากหลาย ไม่จำเป็นจะต้องดีเด่นไปในทางเดียวกัน แต่ละคนมีคุณค่าในแต่ละวาระ การด้อยค่าตัวเองนำไปสู่โรคซึมเศร้าและเรื่องน่าสลดใจในที่สุด เรื่องแบบนี้เราต้องสอนลูกหลานให้ทัน อย่าให้เขารู้สึกด้อยค่าอันมาจากเกม
ไม่ได้จ่ายเงินสด แต่จ่ายเหรียญแลกของเสียดายน้อยกว่า
ผู้ใหญ่อย่างเราที่คิดว่า ดาบ=250 บาท, โล่ห์=300 บาท, เสื้อเกราะ=350 บาท, ขวดเติมชีวิต=100 บาท เด็กก็คงซื้อบัตรมาเติมเกมกันแบบนี้ ถ้าเราคิดได้แค่นี้ ถือว่าคิดไม่ทันผู้ผลิตเกมครับ เพราะเกมใช้หลักจิตวิทยาเดียวกับคาสิโน ที่เราต้องเอาเงินไปแลกชิพก่อน ซึ่งการที่เราเดิมพันด้วยชิพ หรือเสียชิพไปเพราะเสียพนัน ความเสียดายมันน้อยกว่าเสียเงินสด เกมจึงเปลี่ยนเงินที่เราเติมลงในเกม ให้กลายเป็น Symbol อื่น ๆ ที่ผมเรียกว่า แต้ม นั่นแหละครับ ในเกมมันอาจจะเป็นเพชร, ทอง, เงิน, เหรียญ, เปลือกหอย, อะไรก็ได้ แล้วเวลาใช้ ก็เป็นการใช้แต้ม ไม่ได้ใช้เงิน ความรู้สึกเสียดายก็น้อยลง การใช้จ่ายก็มากขึ้น
ใช้แต้มลุ้นรางวัลใหญ่
นึกตามนะครับ ถ้าเกมออนไลน์เขาให้ผู้เล่นเอาแต้มมาแลกไอเท็ม มันก็จะเป็นแค่ Marketplace ไปเท่านั้นเอง น่าเบื่อมากเลยครับ การดึงดูดให้เกิดความเร้าใจในการซื้อ ก็ต้องเอาการเสี่ยงโชคเข้ามาใช้ครับ การใช้แต้มแลกไอเท็มก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ในเกมจะมีอีกส่วนหนึ่ง ที่เกมจะวาง “สิ่งที่มองไม่เห็น” ให้ผู้เล่นได้เปิด ได้ลุ้นสิ่งที่จะได้รับ อาจเป็นไอเท็มธรรมดา หรืออาจเป็นไอเท็มสุดยอด จะเอาแต้มไปซื้อไอเท็ม หรือจะเอาแต้มมาซื้อโอกาสในการเปิดสิ่งที่มองไม่เห็น เผื่อว่าจะได้ไอเท็มที่ต้องการและนี่คือหลักของการพนันดี ๆ นี่เอง
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การเสียเงินมากมาย แล้วไม่ได้รางวัลใหญ่ แต่ประเด็นคือ เด็กที่เล่นเกมนั้น ได้สัมผัสกับกลการพนันโดยที่เขาไม่รู้ตัว เด็กได้รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ในการเล่นพนัน ความรู้สึกว่าเกือบชนะ อีกนิดเดียวก็จะได้แล้ว, ความรู้สึกว่า ลงแต้มอีกที แล้วเปิดลุ้นอีกที ทีนี้จะได้รางวัลใหญ่แล้ว, ความรู้สึกดีใจ (ที่เจ้ามือเตรียมไว้ให้) เมื่อผู้เล่นชนะพนัน ซึ่งทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่เล่นต่อ
เกมเมอร์จะชนะระบบยังไง
มนุษย์กับการพนันน่าจะอยู่คู่กันมานับตั้งแต่ไหนแล้วก็ไม่รู้ สมองของเราหลั่งโดพามีน ทำให้เรารู้สึกดีตอนมือขึ้น สมองเราก็หลั่งโดพามีนตอนเรากินอาหารที่ชอบ หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความสุข รวมถึงตอนเสพโคเคน แล้วเกมออนไลน์ก็ป้อนประสบการณ์นั้นให้ลูกหลานของเราอยู่ เรารู้กันหรือเปล่า…
….ทำยังไงดี
พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
คนทำเกมเขาอุตส่าห์ยกคาสิโนมาไว้กลางบ้านเราแล้ว เราก็ถือโอกาสนี้สอนลูกหลานของเราเลยดิครับ สอนให้เขารู้จักควบคุมการลงแต้ม รู้จักถอยเมื่อเสีย รู้จักพอเมื่อได้ และรู้ว่าไม่มีทางชนะเจ้ามือ และรู้ธาตุแท้ของการพนัน ฝึกเขาจนเขาสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง ให้อยู่เหนือแรงดึงดูดจากการพนันในเกม กลายเป็๋นคนที่บริหารทรัพยากร (แต้ม) ได้ และเล่นเกมอย่างคนที่รู้จักวางแผน และชนะด้วยสมองแทนการเอาแต้มเข้าแลก
การลุ้นในเกมกับผลที่ได้ ไม่ใช่การสุ่ม แต่มันคือ Customer experience ที่ผู้ผลิตเกมวางเอาไว้เป็นอย่างดีโดยอาศัย Big Data และเรานั่นเองที่เป็น Data ให้เขาเอาไป Manipulate ถือโอกาสสอนเรื่องของ AI กับ Big data ไปพร้อมกันเลย
สรุป
ลูกหลานเล่นเกม ผลมันจะออกมาดีหรือร้าย อยู่ที่ผู้ปกครองครับ การห้ามเล่นไม่ใช่ทางออก เราใช้เกมที่ว่ามอมเมานั้น เอามาสอนลูกหลานได้ เพียงแต่เราต้องตั้งใจศึกษาวิธีคิดของผู้ผลิตเกม อ่านเขาให้ออก รู้ให้ทัน ผมแนะนำในบทความนี้อย่างมากมาย เอาไปวิเคราะห์เกมที่ลูกหลานท่านเล่นดูครับ และหวังว่า ลูกหลานของท่านจะเล่นเกมได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อการพนันแฝงจากในเกมนะครับ
เขียนและบันทึกเรื่องราวโดยพี่วุฒิ